เพิ่มสินค้าสำเร็จ!
ไม่สามารถเพิ่มสินค้าได้!
สาระน่ารู้ข่าวสาร

เตือนชาวไร่ข้าวโพด…ระวัง “โรคราสนิม”

ลักษณะอาการ

อาการของโรคจะเกิดได้แทบทุกส่วนของต้นข้าวโพด คือ ใบ ลำต้น กาบใบ ฝัก ช่อดอกตัวผู้ โดยแสดงอาการเป็นจุดนูนเล็กๆ สีน้ำตาลแดง ขนาดของแผลประมาณ 0.2-2.0 ม.ม. แผลจะเกิดด้านบนใบมากกว่าด้านล่างของใบ เมื่อเป็นโรคในระยะแรกๆ จะพบเป็นจุดนูนเล็กๆ ต่อมาแผลจะแตกออกมองเห็นเป็นผงสีสนิมเหล็กในกรณีที่เป็นโรครุนแรงจะทำให้ใบแห้งตายในที่สุด

เชื้อสาเหตุ

เกิดจากเชื้อรา Puccinia polysora Underw. สปอร์ที่พบมากในต้นข้าวโพดเป็นโรคและแพร่ระบาดได้ดีคือ uredospore มีสีเหลืองทอง รูปร่างกลมรี มีขนาดระหว่าง 20-29×29-40 ไมครอน ผนังสีเหลืองหรือสีทองบางและเป็นหนามแหลมหนา 1-1.5 ไมครอน มีรูปร่างที่กึ่งกลาง 4-5 รู เมื่อสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสมจะสร้าง Teliospore ในการอยู่ข้ามฤดู รูปร่างกลมหรือทรงกระบอก หัวท้ายมนขนาด 18-27 x 29-41 ไมครอน ผนังเรียบ สีน้ำตาลเข้ม มี 2 เซล เกิดอยู่บนก้านชูสปอร์สีเหลืองหรือสีน้ำตาล ที่ยาวประมาณไม่เกินหนึ่งในสี่ของความยาวสปอร์ มีขนาดระหว่าง 10-30 ไมครอน สปอร์ชนิดนี้สร้างอยู่ในแผลขนาด 0.2-0.5 มม. กลมหรือกลมรีสีน้ำตาลเข้มหรือดำอยู่ใต้ผิวใบ บางครั้งจะสร้างรอบๆสปอร์แบบแรกคือ uredospore

การแพร่ระบาด

เชื้อรา P. polysora เป็นเชื้อราโรคพืชที่ต้องอาศัยพืชที่มีชีวิตหรือส่วนของพืชที่ยังมีชีวิตอยู่ เชื้อโรคจะไม่สามารถเจริญเติบโตบนเศษซากพืชที่ตายแล้วได้ ดังนั้นการแพร่ระบาดของเชื้อโรคจะแพร่ออกไปจากแผลที่ใบ แผลที่กาบใบ และเปลือกหุ้มฝัก เมื่อเชื้อปลิวไปตกมีสภาพแวดล้อมเหมาะสมกับเชื้อโรคจะทำให้ข้าวโพดเป็นโรคได้ แต่ถ้าสภาพแวดล้อมนั้นเหมาะสมแต่ไม่มีต้นข้าวโพดในแปลงหรือในไร่ เชื้อโรคเข้าทำลายอาศัยพืชอื่นซึ่งเป็นพืชอาศัยของเชื้อโรคอยู่ข้ามฤดู และเมื่อมีการปลูกข้าวโพดขึ้นมาเชื้อจะปลิวจากพืชอาศัยกลับมาที่ข้าวโพดได้อีกวนเวียนเช่นนี้เรื่อยไป สปอร์เชื้อโรคราสนิมสามารถปลิวไปได้ไกลๆมาก ดังนั้นบางครั้งเราจะไม่พบพืชบริเวณไร่เป็นโรคราสนิมเลย แต่เมื่อสภาพแวดล้อมเหมาะสมและข้าวโพดนั้นเป็นพันธุ์อ่อนแอ จะพบโรคราสนิมระบาดรุนแรงได้ อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการงอกของ uredospore คือ 23-28 ํC ถ้าอุณหภูมิต่ำกว่า 13 ํC และสูงกว่า 30 ํC การงอกของสปอร์จะลดลง ปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งคือความชื้นบนผิวใบที่ช่วยให้สปอร์งอกเข้าทำลายพืชได้สำเร็จ

การป้องกันและกำจัด

  1. หลีกเลี่ยงการปลูกข้าวโพดพันธุ์อ่อนแอ โดยเฉพาะข้าวโพดหวาน ข้าวโพดเทียน ข้าวโพดข้าวเหนียว
  2. กำจัดวัชพืชและทำลายต้นพืชที่เป็นโรค โดยการเผาต้นที่เป็นโรค
  3. หมั่นตรวจไร่อยู่เสมอตั้งแต่ระยะกล้าเมื่อเริ่มพบโรคระบาดมีจุดสนิม 3-4 จุดต่อใบ สารที่ยูนิไลฟ์แนะนำ บิซโทร 30-40 กรัม หรือ ไมโครบลูคอป  20  กรัม  หรือ รัสโซล 20 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นทุก 7 วัน จำนวน 2 ถึง 4 ครั้ง ตามความรุนแรงของโรค
  4. ฤดูหนาวในแหล่งที่โรคระบาดควรปลูกพันธุ์ต้านทานโรคหรือปลูกพืชอื่นแทนข้าวโพด

เพิ่มเติม เพื่อประสิทธิภาพที่ดีกว่าควรใช้ คัพเวอร์กรีน ใส่ก่อนผสมสารเคมีทุกครั้ง

ที่มา : เอกสารวิชาการ โรคข้าวโพดและการป้องกันกำจัด เรียบเรียงโดย ชุติมันต์  พานิชศักดิ์พัฒนา โกมินทร์ วิโรจน์วัฒนกุล และ อดิศักดิ์ คำนวณศิลป์ สถาบันวิจัยโรคพืช กรมวิชาการเกษตร



วิธีสั่งของออนไลน์